วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีลำดับที่ ๓




การจัดเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์สามารถทำได้หลายวิธี และวิธีหนึ่ง ที่ทางหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี กำลังดำเนินการอยู่คือ การทำประวัติคำบอกเล่า(Oral History)




ในวันศุกร์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ คณะทำงานหอจดหมายเหตุฯ ได้ทำประวัติคำบอกเล่าบุคลากรสำคัญอีกท่านหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี(ได้ดำเนินการไปแล้ว ๑๕ ท่าน) ตำแหน่งของท่าน มีความสำคัญในการบริหารงานในระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และรองคณบดี

ท่านมีความเชี่ยวชาญ ในการรักษาโรคไต (อายุรศาสตร์โรคไต) และได้รับรางวัลด้านคิดค้นสิ่งประดิษฐ์จาก สภาวิจัยแห่งชาติ อีกด้วย ผลงานของท่านคือ Home-made Hemodialysis machine

นอกจากนี้ท่านไปดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกด้วย

















ท่านที่บอกเล่าความเป็นประวัติศาสตร์ของรามาฯในครั้งนี้ คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สุชาติ อินทรประสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีลำดับที่
๓ (ท่านแรกคือ รองศาสตราจารย์นายแพทย์เสริมศักดิ์ เพ็ญชาติ ท่านที่สองคือ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิรพรรณ มัธยมจันทร์)

ผู้ที่ให้ความอนุเคราะห์เป็นผู้ดำเนินการทำประวัติคำบอกเล่า คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์อร่าม โรจนสกุล(ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี)

มีการบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจในอดีตของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมากมาย จาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สุชาติ อินทรประสิทธิ์ พอสรุปได้ดังนี้

๑. บรรยากาศของคณะฯ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐
๒. การให้การรักษาโรคไตของโรงพยาบาลรามาธิบดีในอดีต
๓. บทบาทของผู้อำนวยการโรงพยาบาลมัยที่ท่านดำรงตำแหน่ง
๔. การพัฒนาคุณภาพของคณะฯ
๕. ข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์ในด้านการทำงาน



ปัจจุบัน ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สุชาติ อินทรประสิทธิ์ ทำงานในด้านการพัฒนาคุณภาพงานในฐานะปรึกษาด้านการพัฒนาคุณภาพงานของคณะฯ ผลงานของท่านมีคุณค่า และให้ประโยชน์ต่อคณะฯเป็นอย่างยิ่ง


วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วันครบรอบเปิดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีปีที่ ๔๑

วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เป็นวันที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการครบ ๔๑ ปี คณะฯได้จัดงานเป็นที่ระลึกถึงวันสำคัญนี้ ณ ห้องโถงหน้าห้องประชุมอารี วัลยะเสวี ทำบุญเลี้ยงพระ ภายในห้องประชุมอารี วัลยะเสวี

พร้อมทั้งมีกิจกรรมต่างๆ คือ มอบรางวัลแก่บุคลากรดีเด่นประเภทต่างๆ และบุคลากรที่สร้างชื่อเสียงให้คณะฯ รวมทั้งมีการบรรยายเรื่อง Happy Workplace โดย นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ และวันเปิดนิทรรศการภาพวาดสีน้ำรามาธิบดีซึ่งเป็นฝีมือของบุคลากรของคณะฯที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์














ในส่วนของนิทรรศการที่โครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดีรับผิดชอบ ก็ยังคงต้องการนำเสนอแนวคิด “รักษ์รามาธิบดี” ให้ชาวรามาธิบดีได้ซึมซับคำนี้ไว้ตลอดไป เสมือนเป็นส่วนหนึ่งความเป็นชาวรามาธิบดี ในการร่วมสร้างประวัติศาสตร์ของรามาธิบดีไว้แก่อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า ในนิทรรศการมีการนำเสนอภาพบรรยากาศของ คณะฯทั้งในช่วงกำลังก่อตั้ง การก่อสร้าง พิธีเปิดอาคารและอื่นๆ (ท่านใดสนใจดูภาพต่างๆ ขอเชิญที่ ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี)


ภาพต่างๆ มีดังนี้












ภาพการดำเนินการก่อสร้างอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ๒๕๐๘ ประกอบด้วย
๑. ศาสตราจารย์อารี วัลยะเสวี คณบดี และนายเจน สกลธนารักษ์ สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
๒. ภาพการก่อสร้างอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ภาพบริเวณพื้นที่ก่อสร้างอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ประกอบด้วย
๑. มุมมองจากพื้นที่ก่อสร้างอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจะเห็นสถานีรถไฟจิตรลดา
๒. ที่ทำงานชั่วคราวของบริษัทเทพดุสิต ซึ่งเป็นบริษัทที่รับเหมาก่อสร้างอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
๓. ภาพถ่ายการก่อสร้างอาคารคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ภาพคณะผู้ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ประกอบด้วย
การดำเนินงานของคณะผู้ก่อตั้ง บรรยากาศภายในห้องฝ่ายธุรการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ประมวลภาพขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงเปิดอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในวันเสาร์ที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๑๒ เวลา ๑๕.๐๐ น. ประกอบด้วย

๑. ภาพโดยรวมของอาคารคณะฯ ในวันเสาร์ที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๑๒ มีตราครุฑปรากฏให้เห็นอยู่ด้านหน้าของอาคาร พร้อมด้วยเต็นท์และธงประดับ โดยมองจากประตูที่ ๒ (ปัจจุบันเป็นทางเข้าข้างธนาคารไทยพาณิชย์) มีต้นไม้ใหญ่ปรากฏให้เห็นเป็นเด่นชัด



๒. การ์ดเชิญจากนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลและการ์ดเชิญจากคณะฯ เพื่อร่วมรับประทานน้ำชาเนื่องในวันเปิดอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี


๓. พิธีเปิดอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี


๔. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จชมนิทรรศการและห้องผ่าตัด โดยมี คณบดีและหม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร รับเสด็จและถวายนำชม

ภาพพื้นที่ด้านหลังของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ประกอบด้วย



อดีต
มุมมองจากด้านหลังของคณะฯ จะเห็นอาคารคาเฟทีเรีย พื้นที่สนามและชั้นล่างของหอประชุมอารี วัลยะเสวี ซึ่ง เป็นพื้นที่โล่งเอนกประสงค์สำหรับกิจกรรมต่างๆ ต่อมาปรับเป็นห้องประชุมจงจินต์


ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของอาคารเรียนรวม ส่วนห้องประชุมจงจินต์ปรับเป็นศูนย์วินิจฉัยเต้านมและศูนย์สลายนิ่ว

ภาพสถานที่สำหรับออกกำลังกายกลางแจ้ง ประกอบด้วย



อดีต สถานที่สำหรับออกกำลังกายกลางแจ้งของชาวรามาธิบดี คือ สนามตะกร้อ ด้านหลังมองเห็น โรงเรียนพยาบาล หอกีฬามูลนิธิรามาธิบดี สนามเทนนิส สนามบาสเก็ตบอลและส่วนท้ายสุดเป็นโรงเตี๊ยม (สถานที่ขายอาหาร)
ปัจจุบัน เป็นหอพักนักศึกษาแพทย์ภาพห้องโถงหน้าห้องประชุมอารี วัลยะเสวี

ภาพห้องโถงหน้าห้องประชุมอารี วัลยะเสวี

อดีต ห้องโถงหน้าห้องประชุมอารี วัลยะเสวี กระจกมองจากด้านข้างจะเห็นอาคารคาเฟทีเรียและส่วนหลังเป็นสำนักงานมูลนิธิรามาธิบดี


ปัจจุบัน ยังคงเป็นห้องโถงหน้าห้องประชุมอารี วัลยะเสวี แต่ไม่สามารถ มองเห็นอาคารห้องคาเฟทีเรียเพราะมีทางเชื่อมของอาคารเรียนรวมบังไว้ ส่วนห้องของสำนักงานของมูลนิธิรามาธิบดีเปลี่ยนเป็นที่ตั้งของงานนโยบายและแผน ต่อมาเป็นที่ตั้งหน่วยอาชีวอนามัย

ภาพทิศเหนือของอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ประกอบด้วย

อดีต อาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นมุมมองจากด้านทิศเหนือของอาคารมีพื้นที่โล่ง 2 แห่ง และลานจอดรถ
ปัจจุบัน
๑. พื้นที่โล่ง 2 แห่ง คือ อาคารจอดรถมูลนิธิรามาธิบดีและอาคารศูนย์อุบัติเหตุและเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
๒. ลานจอดรถ คือ อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์

นอกจากนั้น มีภาพของ อาคารคาเฟทีเรีย ห้องประชุมอารี วัลยะเสวี ห้องประชุมจงจืนต์ หอพักพยาบาลชาย หอพักพยาบาลหญิง โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี เป็นต้น รวมทั้งกิจกรรมที่สำคัญๆที่น่าจดจำซึ่งเรานำเสนอไว้บนตู้นิทรรศการเป็นทั้งภาพและเนื้อหา

ความภาคภูมิใจสุดๆของคณะฯ คือ ปูชนียบุคคลที่สำคัญในการก่อตั้งคณะฯได้เดินทางมาร่วมงานนี้ด้วย........ท่าน คือ
ศาสตราจารย์อารี วัลยะเสวี คณบดีคนแรกของชาวรามาฯ ...ภาพนี้หาดูได้ยากนะคะ.ในการที่ท่านมายืนคู่กับภาพประวัติศาสตร์ที่ท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่มีส่วนสร้างขึ้นมา.........นับได้ว่าท่านเป็นบุคคลสำคํญของคณะฯที่อนุชนรุ่นหลังพึงจดจำและยกย่องตลอดไป