วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยมหิดล(Mahidol Archives and Museum)

.








ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดี เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ แล้ว เมื่อวันพุธที่ 3 พฤศจิกายน 2553 เวลา 9.30 น. – 16.00 น. ณ บริเวณโถงกลางของสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล










ภายในงานมีการจัดแสดง นิทรรศการ “มรดกความทรงจำแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล” ที่จะสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการจัดสร้างโครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยมหิดล การเปิดตัวครั้งนี้เต็มไปด้วยความอลังการและความรู้ มากมาย มีปาฐกถาพิเศษ “จดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล : เกียรติภูมิแห่งแผ่นดิน” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล

รวมถึง เวทีเสวนา “จดหมายเหตุ : มรดกของแผ่นดิน” โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์อร่าม โรจนสกุล, ผู้ช่วยศาสตราจารย์กาญจนี ละอองศรี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์อภิญญา บัวสรวง, อาจารย์วรรณา นาวิกมูล และคุณวิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์






















นอกจากนั้นในงานนี้ยังมีการนำมรดกความทรงจำของส่วนงานต่างๆมาจัดแสดงพร้อมคำบรรยาย ที่ทำให้นึกย้อนกลับไปสู่อดีตของส่วนงานต่างๆของมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมกับวัสดุวางประกอบทำให้น่าตื่นเต้นมาก ซึ่งในส่วนของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดีได้นำมรดกความทรงจำที่ได้จากการสัมภาษณ์ รวบรวมเอกสารต่างๆและประมวลนำส่งไปจัดแสดงด้วยกัน 3 ชิ้น คือ ลายมือเขียนของศาสตราจารย์อารี วัลยะเสวี ครุภัณฑ์แห่งความทรงจำ และเวชระเบียนหมายเลขแรกของโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งมีผู้ที่มาร่วมงานและผู้สนใจมาศึกษาข้อมูลเป็นจำนวนมาก
.

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

มรดกความทรงจำของผู้ร่วมก่อต้้ังรามาธิบดี

.


มรดกความทรงจำ(Heritage Memories) เป็นข้อมูลที่มีคุณค่าซึ่งถ่ายทอดออกมาจากการระลึกถึงเรื่องราวต่างๆในอดีต เป็นวิธีหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งประวัติที่มีคุณค่าในอดีตยิ่งมีวัสดุประกอบควาทรงจำได้ยิ่งเพิ่มคุณค่ามากขึ้นและนำความทรงจำที่ได้รับการถ่ายทอดนั้นไปเก็บบันทึกเป็นองค์ความรู้ต่อไป ผู้เขียนได้มีโอกาสขอให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง ม.ร.ว.จันทร์นิวัทธ์ เกษมสันต์ ผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 ได้ถ่ายทอดมรดกความทรงจำของท่านในยุคนั้นดังนี้



ท่านถ่ายทอดความทรงจำพร้อมกับหัวเราะว่า “ ในช่วงจัดตั้งงบประมาณสำหรับซื้อครุภัณฑ์นั้น ท่านและรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิรพรรณ มัธยมจันทร์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งคณะฯ ที่สำคัญได้เดินทางไปติดต่อที่สำนักงบประมาณฯ เพื่อจัดซื้อเก้าอี้สำหรับใช้ในคณะฯ โดยกำหนดว่าเป็นเก้าอี้ราคาตัวละ 80 บาท ซึ่งสำนักงบประมาณฯได้แจ้งว่าขอให้ใช้เก้าอี้ราคาตัวละ 50 บาทเท่านั้น และในขณะที่กำลังนั่งติดต่ออยู่นั้นเก้าอี้ที่อาจารย์แพทย์หญิงจิรพรรณนั่งก็หักลงมา ดังนั้นแพทย์หญิงอาจารย์จิรพรรณจึงได้ถามเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณฯว่า เป็นเก้าอี้แบบนี้ใช่ไหมที่ราคา 50 บาทและกำหนดให้คณะแพทยศาสคร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจัดซื้อ..............” หลังจากนั้น คณะฯก็ได้รับอนุมัติจากสำนักงบประมาณให้จัดอี้เก้าอี้ในราคา 50 บาท แต่ไม่ได้หมายถุงเก้าอี้แบบที่หัก.......... นับเป็นเก้าอี้ชุดแรกที่จัดซื้อมาใช้ในคณะฯเป็นครุภัณฑ์ 2512

หลังจากนั้นเราสืบหาเก้าอี้ตัวนี้ที่จัดซื้อมาในรุ่นแรก ขณะที่เดินผ่านหน้าภาควิชาโสตศอนาสิกวิทยา ชั้น 2 อาคาร 1 พบว่ามีเก้าอี้เก่าที่สะดุดตาประมาณ 2 ตัว มีสภาพดี 1 ตัว อีก 1 ตัวที่ขามีการดามด้วยเหล็ก และยังวางให้บริการอยู่ที่หน้าภาควิชาฯ เก้าอี้ดังกล่าวมีเลขรหัส 2512 แต่ถ้าพิจารณาจากรหัสพัสดุ ของเก้าอี้นี้พบว่าเป็นครุถัณฑ์ของภาควิชาจักษุโสตศอนาสิกวิทยา ดังปรากฏในรูป คือ “จษส2512 ซึ่งบ่งบอกประวัติให้ทราบว่า ในยุคก่อตั้งคณะฯ ในปี 2512 ซึ่งเป็นปีแรกที่คณะแพทยศาสคร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเปิดให้บริการ อนึ่งในแผนผังโครงสร้างองค์กรของคณะแพทยศาสคร์โรงพยาบาลรามาธิบดีในยุคแรก จะประกอบด้วยภาควิชาต่างๆ จำนวน 8 ภาค รวมถึงภาควิชาจักษุวิทยาวิทยาโสตศอนาสิกลาริงซ์ และต่อมา ในปี พ.ศ. 2522แยกเป็น ภาควิชาจักษุวิทยา และ ภาควิชาโสตศอนาสิกลาริงซ์วิทยา

มรดกความทรงจำของผู้ร่วมก่อตั้งคณะฯ เป็นข้อมูลที่น่าสนใจและสามารถถ่ายทอดประวัติอันมีคุณค่ามากมาย ซึ่งคณะทำงานหอจดหมายเหตุคณะฯให้ความสำคัญมากและจะดำเนินต่อไปเพื่อสืบหาสิ่งที่มีคุณค่าในอดีคของคณะฯต่อไป
.

วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ขอเชิญร่วมงาน “รักษ์รามาธิบดีครั้งที่ ๒”

.
คณะกรรมการโครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีกำหนดจัดงาน “รักษ์รามาธิบดีครั้งที่ ๒” ในโอกาสเปิดหอจดหมายเหตุรามาธิบดีซึ่งจะแจ้งกหนดเวลาที่แน่นอนอีกครั้ง
โดยงาน “รักษ์รามาธิบดีครั้งที่ ๒” กำหนดให้จัดที่ หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี (Ramathibodi Archives and Museum) ชั้น ๒ และ บริเวณหอเกียรติยศ (Hall of Fame) ชั้น ๙ อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

















กิจกรรมที่จัดประกอบด้วย
๑. "รามาธิบดีของเรา" นำชมส่วนจัดแสดงอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง ๘ โซนและ หอเกียรติยศ (Hall of Fame)
๒. "บันทึกภาพความทรงจำ" โดยการถ่ายรูปผู้มาร่วมงานกับภาพในอดีต
๓. "รำลึกอดีตนักศึกษา" เป็นกิจกรรมแจ้งเลขทะเบียนหรือรุ่นของตนเองสมัยเป็นนักศึกษาของคณะฯ
๔. "เราคือสายเลือดรามาฯ" เป็นกิจกรรมค้นหารูปตัวเองจากภาพถ่ายหมู่ของผู้สำเร็จการศึกษาในแต่ละปี
๕. "รอยประทับของความภูมิใจ" เป็นกิจกรรมพิมพ์ภาพตราสัญญลักษณ์หอจดหมายเหตุฯลงบนเสื้อ/กระเป๋า

นอกจากกิจกรรมที่สนุกสนาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเกิดอารมณ์ร่วมในความเป็นคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีแล้ว ท่านจะได้รับของที่ระลึกด้วย
.

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การเติมเต็มเอกสารจดหมายเหตุทีไม่สมบูรณ์

.


ในการรวบรวมเอกสารจดหมายเหตุนั้นเป็นภาระงานที่สำคัญและต้องละเอียดอ่อนมาก เอกสารจดหมายเหตุบางชิ้นยังไม่สมบูรณ์ที่จะให้ข้อมูลได้ครบถ้วนทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ค้นคว้าข้อมูลดังกล่าว

โครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังประสบกับภาวะดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น ถ้าเอกสารจดหมายเหตุได้ยังมีความไม่ครบถ้วนของข้อมูลก็ต้องนำมาปรับให้เกิดประโยชน์ให้ได้

ในครั้งที่มีการวางแผนก่อตั้งคณะแพทย์แห่งใหม่จนเป็นคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นคณะแพทย์แห่งที่ 4 ของประเทศไทยนั้น มีการถ่ายทำเป็นภาพยนต์ไว้ แต่เราต้องนำฟิล์มภาพยนต์นั้นไปเปลี่ยนเป็น VDO เพื่อสะดวกในการเปิดดู



นอกจากนั้นต้องใส่บทบรรยาย ซึ่งได้รับเกียรติจากเลขานุการของ ศาสตราจารย์อารี วัลยะเสวี คณบดีคนแรกของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คือคุณอุ่นเรือน แกล้วทนง หรือ คุณ ปณดี แกล้วทะนงเป็นผู้เขียนบทบรรยายและบันทึกเสียง


คุณปณดี แกล้วทนง หรือ คุณอุ่นเรือน แกล้วทนง นับเป็นบุคคลสำคัญของคณะฯ เพราะเป็นผู้ใกล้ชิด ศาสตราจารย์อารี วัลยะเสวี มากที่สุดในช่วงดำเนินการก่อตั้งคณะฯ ในการนี้เลขานุการคณะฯ คนปัจจุบัน คุณเรวดี รุ่งจตุรงค์ ได้ให้เกียรติเป็นผู้ดำเนินการประวัติคำบอกเล่า (Oral History) กับคุณปณดี ซึ่งได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อประวัติความเป็นมาของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมาก
.

วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553

"วันนี้คืออดีต": แนวคิดในการจัดเก็บบันทึกรายวัน

.
ด้วยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการ โครงการ “หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี (Ramathibodi Archives and Museum)”

โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและบันทึกเหตุการณ์ที่มีความสำคัญของคณะฯ อีกทั้งเพื่อเป็นคลังข้อมูลสำหรับการค้นคว้าและเผยแพร่ให้แก่บุคลากรของคณะฯ


อย่างไรก็ตามพบว่าภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตของคณะฯหลายภาพที่ยังไม่สามารถ ระบุวัน แหล่ง เวลา และบุคคลในภาพเหล่านั้นได้แน่นอน จึงเป็นปัญหาในการบันทึกข้อมูลในหอจดหมายเหตุฯ









ในการนี้โครงการหอจดหมายเหตุฯ มีแนวคิดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันจะเปลี่ยนสภาพเป็นประวัติศาสตร์ได้เมื่อกาลเวลาผ่านไป

ดังนั้นโครงการหอจดหมายเหตุฯจึงกำหนดให้มีโครงการ
“วันนี้คืออดีต” โดยการบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในคณะฯ และเก็บบันทึกไว้ในหอจดหมายเหตุฯ



.

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีลำดับที่ ๓




การจัดเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์สามารถทำได้หลายวิธี และวิธีหนึ่ง ที่ทางหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี กำลังดำเนินการอยู่คือ การทำประวัติคำบอกเล่า(Oral History)




ในวันศุกร์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ คณะทำงานหอจดหมายเหตุฯ ได้ทำประวัติคำบอกเล่าบุคลากรสำคัญอีกท่านหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี(ได้ดำเนินการไปแล้ว ๑๕ ท่าน) ตำแหน่งของท่าน มีความสำคัญในการบริหารงานในระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และรองคณบดี

ท่านมีความเชี่ยวชาญ ในการรักษาโรคไต (อายุรศาสตร์โรคไต) และได้รับรางวัลด้านคิดค้นสิ่งประดิษฐ์จาก สภาวิจัยแห่งชาติ อีกด้วย ผลงานของท่านคือ Home-made Hemodialysis machine

นอกจากนี้ท่านไปดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกด้วย

















ท่านที่บอกเล่าความเป็นประวัติศาสตร์ของรามาฯในครั้งนี้ คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สุชาติ อินทรประสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีลำดับที่
๓ (ท่านแรกคือ รองศาสตราจารย์นายแพทย์เสริมศักดิ์ เพ็ญชาติ ท่านที่สองคือ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิรพรรณ มัธยมจันทร์)

ผู้ที่ให้ความอนุเคราะห์เป็นผู้ดำเนินการทำประวัติคำบอกเล่า คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์อร่าม โรจนสกุล(ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี)

มีการบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจในอดีตของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมากมาย จาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สุชาติ อินทรประสิทธิ์ พอสรุปได้ดังนี้

๑. บรรยากาศของคณะฯ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐
๒. การให้การรักษาโรคไตของโรงพยาบาลรามาธิบดีในอดีต
๓. บทบาทของผู้อำนวยการโรงพยาบาลมัยที่ท่านดำรงตำแหน่ง
๔. การพัฒนาคุณภาพของคณะฯ
๕. ข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์ในด้านการทำงาน



ปัจจุบัน ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สุชาติ อินทรประสิทธิ์ ทำงานในด้านการพัฒนาคุณภาพงานในฐานะปรึกษาด้านการพัฒนาคุณภาพงานของคณะฯ ผลงานของท่านมีคุณค่า และให้ประโยชน์ต่อคณะฯเป็นอย่างยิ่ง


วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วันครบรอบเปิดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีปีที่ ๔๑

วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เป็นวันที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการครบ ๔๑ ปี คณะฯได้จัดงานเป็นที่ระลึกถึงวันสำคัญนี้ ณ ห้องโถงหน้าห้องประชุมอารี วัลยะเสวี ทำบุญเลี้ยงพระ ภายในห้องประชุมอารี วัลยะเสวี

พร้อมทั้งมีกิจกรรมต่างๆ คือ มอบรางวัลแก่บุคลากรดีเด่นประเภทต่างๆ และบุคลากรที่สร้างชื่อเสียงให้คณะฯ รวมทั้งมีการบรรยายเรื่อง Happy Workplace โดย นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ และวันเปิดนิทรรศการภาพวาดสีน้ำรามาธิบดีซึ่งเป็นฝีมือของบุคลากรของคณะฯที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์














ในส่วนของนิทรรศการที่โครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดีรับผิดชอบ ก็ยังคงต้องการนำเสนอแนวคิด “รักษ์รามาธิบดี” ให้ชาวรามาธิบดีได้ซึมซับคำนี้ไว้ตลอดไป เสมือนเป็นส่วนหนึ่งความเป็นชาวรามาธิบดี ในการร่วมสร้างประวัติศาสตร์ของรามาธิบดีไว้แก่อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า ในนิทรรศการมีการนำเสนอภาพบรรยากาศของ คณะฯทั้งในช่วงกำลังก่อตั้ง การก่อสร้าง พิธีเปิดอาคารและอื่นๆ (ท่านใดสนใจดูภาพต่างๆ ขอเชิญที่ ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี)


ภาพต่างๆ มีดังนี้












ภาพการดำเนินการก่อสร้างอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ๒๕๐๘ ประกอบด้วย
๑. ศาสตราจารย์อารี วัลยะเสวี คณบดี และนายเจน สกลธนารักษ์ สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
๒. ภาพการก่อสร้างอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ภาพบริเวณพื้นที่ก่อสร้างอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ประกอบด้วย
๑. มุมมองจากพื้นที่ก่อสร้างอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจะเห็นสถานีรถไฟจิตรลดา
๒. ที่ทำงานชั่วคราวของบริษัทเทพดุสิต ซึ่งเป็นบริษัทที่รับเหมาก่อสร้างอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
๓. ภาพถ่ายการก่อสร้างอาคารคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ภาพคณะผู้ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ประกอบด้วย
การดำเนินงานของคณะผู้ก่อตั้ง บรรยากาศภายในห้องฝ่ายธุรการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ประมวลภาพขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงเปิดอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในวันเสาร์ที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๑๒ เวลา ๑๕.๐๐ น. ประกอบด้วย

๑. ภาพโดยรวมของอาคารคณะฯ ในวันเสาร์ที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๑๒ มีตราครุฑปรากฏให้เห็นอยู่ด้านหน้าของอาคาร พร้อมด้วยเต็นท์และธงประดับ โดยมองจากประตูที่ ๒ (ปัจจุบันเป็นทางเข้าข้างธนาคารไทยพาณิชย์) มีต้นไม้ใหญ่ปรากฏให้เห็นเป็นเด่นชัด



๒. การ์ดเชิญจากนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลและการ์ดเชิญจากคณะฯ เพื่อร่วมรับประทานน้ำชาเนื่องในวันเปิดอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี


๓. พิธีเปิดอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี


๔. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จชมนิทรรศการและห้องผ่าตัด โดยมี คณบดีและหม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร รับเสด็จและถวายนำชม

ภาพพื้นที่ด้านหลังของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ประกอบด้วย



อดีต
มุมมองจากด้านหลังของคณะฯ จะเห็นอาคารคาเฟทีเรีย พื้นที่สนามและชั้นล่างของหอประชุมอารี วัลยะเสวี ซึ่ง เป็นพื้นที่โล่งเอนกประสงค์สำหรับกิจกรรมต่างๆ ต่อมาปรับเป็นห้องประชุมจงจินต์


ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของอาคารเรียนรวม ส่วนห้องประชุมจงจินต์ปรับเป็นศูนย์วินิจฉัยเต้านมและศูนย์สลายนิ่ว

ภาพสถานที่สำหรับออกกำลังกายกลางแจ้ง ประกอบด้วย



อดีต สถานที่สำหรับออกกำลังกายกลางแจ้งของชาวรามาธิบดี คือ สนามตะกร้อ ด้านหลังมองเห็น โรงเรียนพยาบาล หอกีฬามูลนิธิรามาธิบดี สนามเทนนิส สนามบาสเก็ตบอลและส่วนท้ายสุดเป็นโรงเตี๊ยม (สถานที่ขายอาหาร)
ปัจจุบัน เป็นหอพักนักศึกษาแพทย์ภาพห้องโถงหน้าห้องประชุมอารี วัลยะเสวี

ภาพห้องโถงหน้าห้องประชุมอารี วัลยะเสวี

อดีต ห้องโถงหน้าห้องประชุมอารี วัลยะเสวี กระจกมองจากด้านข้างจะเห็นอาคารคาเฟทีเรียและส่วนหลังเป็นสำนักงานมูลนิธิรามาธิบดี


ปัจจุบัน ยังคงเป็นห้องโถงหน้าห้องประชุมอารี วัลยะเสวี แต่ไม่สามารถ มองเห็นอาคารห้องคาเฟทีเรียเพราะมีทางเชื่อมของอาคารเรียนรวมบังไว้ ส่วนห้องของสำนักงานของมูลนิธิรามาธิบดีเปลี่ยนเป็นที่ตั้งของงานนโยบายและแผน ต่อมาเป็นที่ตั้งหน่วยอาชีวอนามัย

ภาพทิศเหนือของอาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ประกอบด้วย

อดีต อาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นมุมมองจากด้านทิศเหนือของอาคารมีพื้นที่โล่ง 2 แห่ง และลานจอดรถ
ปัจจุบัน
๑. พื้นที่โล่ง 2 แห่ง คือ อาคารจอดรถมูลนิธิรามาธิบดีและอาคารศูนย์อุบัติเหตุและเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
๒. ลานจอดรถ คือ อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์

นอกจากนั้น มีภาพของ อาคารคาเฟทีเรีย ห้องประชุมอารี วัลยะเสวี ห้องประชุมจงจืนต์ หอพักพยาบาลชาย หอพักพยาบาลหญิง โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี เป็นต้น รวมทั้งกิจกรรมที่สำคัญๆที่น่าจดจำซึ่งเรานำเสนอไว้บนตู้นิทรรศการเป็นทั้งภาพและเนื้อหา

ความภาคภูมิใจสุดๆของคณะฯ คือ ปูชนียบุคคลที่สำคัญในการก่อตั้งคณะฯได้เดินทางมาร่วมงานนี้ด้วย........ท่าน คือ
ศาสตราจารย์อารี วัลยะเสวี คณบดีคนแรกของชาวรามาฯ ...ภาพนี้หาดูได้ยากนะคะ.ในการที่ท่านมายืนคู่กับภาพประวัติศาสตร์ที่ท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่มีส่วนสร้างขึ้นมา.........นับได้ว่าท่านเป็นบุคคลสำคํญของคณะฯที่อนุชนรุ่นหลังพึงจดจำและยกย่องตลอดไป



































วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

กว่าจะเป็นหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี.....ที่เรารอคอย

ตามที่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้จัดงาน "รักษ์รามาธิบดี" ครั้งที่ 1 เมื่อวันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2553 เวลา 8.30 - 16.00 น. และจัดเพิ่มในวันจันทร์ที่ 12 เมษายน 2553 เวลา 9.00 - 14.00 น. นั้น มีผู้สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก เป็นทั้งบุคลากรในอดีต ปัจจุบันและนักศึกษา จากการประเมินผลผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 328 คน พบว่า ส่วนใหญ่ทราบว่าคณะฯ กำลังจัดสร้างหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งเกิดความมีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์ของคณะฯ และมีความภาคภูมิใจในความเป็นคณะฯ ในระดับมากที่สุด

ขณะนี้ทางโครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี กำลังดำเนินการจัดสร้าง หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี ที่บริเวณ ชั้น ๒ อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์ ประกอบด้วยโซนต่างๆ ดังนี้

• โซนที่ 1 พระบารมีคุ้มเกล้ารามาธิบดี
• โซนที่ 2 กว่าจะเป็นรามาธิบดี
• โซนที่ 3 เรื่องเล่ารามาธิบดี
• โซนที่ 4 บุคลากรรามาธิบดี
• โซนที่ 5 วิจัยและตำรารามาธิบดี
• โซนที่ 6 เริ่มต้นที่รามาธิบดี
• โซนที่ 7 เจาะลึกรามาธิบดี
• หอเกียรติยศรามาธิบดี:(ชั้น 9 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์)










คาดว่าการจัดสร้างหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดีจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายนนี้ ในโอกาสนี้ขอเชิญชวนให้ชาวรามาธิบดีทุกท่านทั้งที่ยังทำงานในปัจจุบันและท่านทำงานที่อื่น ช่วยกันบริจาคเอกสารจดหมายเหตุและวัสดุต่างๆเพื่อจัดเก็บรักษาไว้และเผยแพร่ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้เรื่องราวในอดีตและเกิดความภาคภูมิใจ ขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณเกรียงศักดิ์ บุญถวิล โทรศัพท์ 02-2011280


วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553

หน่วยจัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว: แห่งแรกในประเทศไทย



หน่วยจัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว จัดดั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจของชาวรามาธิบดีในการที่มีส่วนช่วยสังคม หน่วยนี้จัดตั้งโดย รองคณบดีฝ่ายการพัสดุ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศ.รณชัย คงสกนธ์ มีจุดประสงค์เพื่อให้สตรีและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว มีความรู้และแนวทางช่วยเหลือตนเองได้จากการถูกกระทำรุนแรงก่อนที่จะได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น และยังสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระยะยาว พร้อมเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวระดับจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อลดปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวและในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม


วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553

รามาฯจัดงาน "รักษ์รามาธิบดี" ครั้งที่ 1












งาน "รักษ์รามาธิบดี"นี้จัดเป็นครั้งที่ 1 ในวันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2553 ณ ตึกสิริกิติ์ ชั้น 5 เวลา 8.00 น.- 16.00 น. และเพิ่ม วันจันทร์ที่ 12 เมษายน 2553 เวลา 9.00 น- 14.00 น. การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ ประชาสัมพันธ์โครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดีและเพื่อจัดหาเอกสารจดหมายเหตุและวัสดุพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บรักษาและเผยแพร่โครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี

กิจกรรมในงาน มี หลากหลาย คือ

1.ภาพเก่าเล่าเรื่อง/ใคร อะไร ที่ไหน อย่างไรในอดีต: จัดแสดงภาพเก่าที่ยังไม่มีรายละเอียด เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้ช่วยให้ข้อมูลว่า เป็นใคร มีกิจกรรมอะไร ที่ไหน อย่างไร

2.เก่ากว่านี้มีอีกไหม: จัดแสดงภาพเก่าของสถานที่ สิ่งของและเหตุการณ์ต่างๆ และให้ผู้มาร่วมงานพิจารณาว่าตนเองมีภาพเก่ากว่านี้หรือไม่ ถ้ามีขอเชิญชวนมามอบให้คณะฯ

3.ใหม่บวกเก่า(ชาวรามาธิบดี): เชิญปูชนียบุคคลในยุคก่อตั้งคณะฯให้เกียรติถ่ายภาพนิ่งที่ซุ้ม เพื่อสานความสัมพันธ์และย้อนวันเวลาแห่งความสุข ความภาคภูมิใจ

4.วัสดุเก่าเล่าอดีต : จัดแสดงวัสดุพิพิธภัณฑ์ของคณะฯ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และหาชมได้ยาก เราได้รวบรวมไว้ที่นี่ ! เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

5.อดีต สู่ ปัจจุบัน สัมผัสที่แตกต่าง: จัดแสดงรูปภาพเปรียบเทียบระหว่างเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้วกับภาพปัจจุบัน

6.รับบริจาคเอกสารจดหมายเหตุและวัสดุพิพิธภัณฑ์: มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของรามาธิบดี (มีอายุมากกว่า ๒๕ ปี) พร้อมรับของที่ระลึก

7.ที่ระลึกแทนใจรักษ์รามาธิบดี:มอบของที่ระลึกแก่ อาจารย์ บุคลากรอาวุโสและผู้ร่วมงานข้อมูลที่รวบรวมได้จะนำไปจัดเก็บที่ หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี ชั้น 2 และชั้น 9 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์